ไปบึงกาฬกันไหม

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬ


เจ้าแม่สองนาง




ประวัติความเป็นมา ผู้เรียบเรียงประวัติของเจ้าแม่สองนาง ได้เขียนได้ดังนี้ ตามที่ได้รับฟังคำบอกเล่าจากผู้เฒ่ามาคือ พ่อตู้จ้ำนาค สุริยะกาญจน์ (จ้ำ หมายถึง คนดูแลศาลเจ้า) และพ่อตู้เฮือง ผิวเฟื่อง (ปัจจุบันอยู่คุ้มเหนือ) เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 2137 เกิดศึกฮ่อ ได้ขับไล่คนไทยออกจากลุ่มแม่น้ำโขง ลงมาทางตอนใต้ พวกเผ่าพันธุ์ไทยเดิมก็อพยพลงมาตามแม่น้ำโขง มาปักหลักอยู่หลายแห่ง แบ่งกันอยู่คนละมุมตามลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงอพยพลงมา ในช่วงอพยพลงมา พ่อตู้พรมก็ได้เสียเมียรักไปด้วยโรคอหิวาห์ ในกลางทาง เหลือแต่ลูกสาวสองคน คือ นางสมสี และนางบัวลี จึงเดินทางต่อลงมาในเขตชัยบุรี (อ.บึงกาฬ ปัจจุบัน)

พ่อพรมเป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า ก็ไปอยู่ดอนหอทุ่ง(กุดทิง ปัจจุบัน) ให้ลูกสาวสองคนอยู่ที่หนองบึงกาฬ แต่สองคนไม่ยอมแต่งงานขออยู่เป็นโสดตลอดไป ต่อมาผู้เป็นพ่อก็เสียชีวิตลง ลูกทั้งสองก็เอาศพไว้ ณ ที่ดอนหอทุ่ง (กุดทิงปัจจุบัน) สองคนพี่น้อง นางสมสี และนางบัวลี ก็ล้มป่วยลงเพราะขาดแม่ ขาดพ่อ ได้เอาสุสานไปเก็บไว้บริเวณบ้านของตู้จารย์มา ต้นหาบึ้ง (ที่ธนาคารกสิกรไทย) หลังจากนั้นมา เมื่อปี 2498 ได้ย้ายศาลมาอยู่ที่มุมทางเข้า รพ. ปัจจบัน และได้ย้ายศาลเจ้าแม่สองนางมาอยู่ที่ปัจจุบัน จนทุกวันนี้

เจ้าแม่สองนางเป็นศาลอันศักดิ์สิทธิ์ทั่วสารทิศผู้คนไปมาได้กราบไหว้บูชา ขอพรให้เจริญรุ่งเรือง บริเวณที่สร้างศาลเจ้าแม่สองนางปัจจุบันแต่ก่อนมีต้นพุทราอยู่สองต้นลูกดก ทางราชการต้องการย้ายศาลเจ้าแม่สองนางไปที่อื่น พอไปดูทางโหราศาสตร์ แล้วบอกว่า ย้ายไม่ได้ขออยู่ที่เดิม เพราะมองเห็นแม่น้ำโขงตลอดทั้งปี



อ้างองข้อมูลมาจาก bungkan.com

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬ






วัดอาฮงศิลาวาส



วัดอาฮงศิลาวาส ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ บ้านอาฮง ตำบลไคสี อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ห่างจากตัวอำเภอบึงกาฬ 21 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดหนองคาย 115 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ คือ

ทิศเหนือ ติดกับ แม่น้ำโขงบริเวณแก่งอาฮง

ทิศใต้ ติดกับ ถนนมิตรภาพเส้นทาง หนองคาย- นครพนม

ทิศตะวันออก ติดกับ ห้วยอีเต่าและเขตบ้านไคสี

ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านอาฮง



วัดอาฮงศิลาวาส เป็นวัดเก่าแก่แต่ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อใด จากคำบอกเล่า ทราบแต่เพียงว่าเดิมเป็นสำนักสงฆ์ และเนื่องจากวัดตั้งอยู่ในป่าที่รกทึบ จึงเรียกว่า “วัดป่า” โดยหลวงพ่อลุน เป็นผู้ก่อตั้ง ท่านได้มรณะไปเมื่อปี พ.ศ. 2506 ด้วยโรคชรา หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีพระภิกษะสงฆ์มาจำพรรษาอีกเลย หากจะมีบ้างก็เป็นเพียง พระธุดงค์ที่จาริกผ่านมาพักบำเพ็ญเพียรภาวนาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็จากไป สภาพวัดในสมัยนั้นแทบเรียกว่าวัดร้าง แต่ถึงแม้ไม่มีพระสงฆ์ จำพรรษาก็ยังมีคุณยายชีท่านหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านอาฮงคอยเฝ้ารักษาดูแล



จนกระทั่งปี พ.ศ. 2517 พระนิเทศศาสนคุณ (ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) สมัยนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส วัดบุญเรืองสุวรรณาราม บ้านคำโป้งเป้ง ต.ค่ายบกหวาน อ. เมือง จ. หนองคาย ได้เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ วัดเจติยาวิหาร (ภูทอก) ขากลับเห็นป้ายชื่อวัดจึงได้แวะเข้ามาดู พบเพียงแม่ชีแก่ๆ คนหนึ่ง ไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา ท่านจึงได้ซักถามถึงประวัติความเป็นมา แม่ชีได้เล่าถวายโดยละเอียด ประกอบกับท่านได้เดินตรวจตราสภาพวัดโดยรอบเห็นว่าสถานที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สงบ ร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนา ของพระภิกษุสงฆ์ สมควรจะได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ เมื่อกลับถึงหนองคาย ท่านได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพระลูกวัดและญาติโยมซึ่งทั้งหมดก็เห็นสมควรเช่นเดียวกับท่านด้วย หลวงพ่อจึงพาคณะศรัทธา มาที่วัดป่าแห่งนี้ พร้อมทั้งได้ประชุมกับชาวบ้านอาฮงในเรื่องการบูรณะวัด ซึ่งเมื่อชาวบ้านได้ทราบดังนั้นแล้วต่างก็พากันยินดีพร้อมทั้งอนุโมทนาสาธุกับหลวงพ่อ และได้ดำเนินงานทันทีในวันต่อมา โดยปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม สร้างศาลากุฎี และสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ที่มีความจำเป็น หลวงพ่อได้จัดภิกษุสามเณรให้อยู่จำพรรษา โดยมีหลวงพ่อเมธา จิตฺกาคุตโตเป็นเจ้าอาวาส และตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดอาฮงศิลาวาส”

นับแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา วัดก็ได้รับการบูรณะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทว่าเมื่อปี พ.ศ. 2524 หลวงพ่อสมานได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมฑูต เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการพัฒนาวัดจึงหยุดชะงักล่าช้าไปบางส่วน แต่ก็ยังมีการปรับปรุงตลอดเวลาจนปีพ.ศ. 2537 หลวงพ่อสมานได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง จึงได้ดำเนินการสานต่อ เพื่อให้วัดอาฮงศิลาวาสมีความเรียบร้อยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


การบูรณะวัด พัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถาวรวัตถุ รวมไปถึงการตกแต่งสถานที่ภายในวัด ได้อาศัยแรงกาย แรงใจ พร้อมทั้งจตุปัจจัย จากศรัทธาญาติโยม ที่มาจากทั่วสารทิศ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ในส่วนของประเทศไทยนั้น นอกจากจะอาศัยศรัทธาประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตจังหวัดหนองคายแล้ว ศาสนูปถัมภกคนสำคัญที่ได้อุปถัมป์วัดด้วยดียิ่งตลอดมา คือท่าน ดร.วิญญู – คุณมาลิน คุวานันท์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โค้วหยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด รวมทั้งบริษัท ในเครือ ท่านได้ช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถาวรวัตถุและสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ภายในวัด ได้แก่วิหาร ศาลา ห้องน้ำ บ้านพักรับรอง ถนน เป็นต้น นอก จากนี้ท่านยังได้ถวายพระพุทธรูปเพื่อเป็นพุทธบูชา ขนาดหน้า ตักกว้าง 4 เมตร สูง7 เมตร น้ำหนัก 20 ตัน นามว่า “พระพุทธ คุวานันท์ศาสดา” ซึ่งมีความงดงามตระการตาด้วยว่าเป็นพระ พุทธรูปลักษณะเดียวกับพระพุทธชินราช หล่อด้วยทองเหลืองโดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโณ) ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 109 รูป ประกอบพิธีพุทธาภิเษก เบิกเนตร เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 นับจากนั้นเป็นต้นมา วัดก็มีความเจริญรุ่งเรือง และเรียบร้อยสมบูรณ์เป็นลำดับ


วัดอาฮงศิลาวาส ตั้งอยู่ในจุด ภูมิศาสตร์ที่เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นหลายประการ ทั้งยังมี เรื่องเล่าขานเป็นตำนานเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา คือ เมื่อ ครั้งพุทธกาล หรือ ประมาณ 2,500 กว่าปีล่วงมา สมเด็จพระ บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จจำพรรษา เหล่าเทพเทวาได้พากันเนรมิตบันไดเงิน บันไดทอง เพื่อรองรับเบื้องพระบาทบทมาลย์ในการเสด็จกลับยังโลกมนุษย์ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุด พระองค์ ได้หยุดอยู่ท่ามกลางพร้อมผายพระกรทั้งสองข้าง เปิดให้โลกทั้งสาม คือ สวรรค์ มนุษย์ นรก ได้มองเห็นกัน ส่วนเหล่าพญานาคนั้นได้พากันสำแดงฤทธิ์พ่น ไฟถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อต้อนรับการกลับมาขององค์พระพุทธชินสีห์ เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของ “บั้งไฟพญานาค”


นอกจากนี้ จุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขงตลอดทั้งสาย ซึ่งมีความยาววัดได้ ประมาณ 4,590 กม. ก็คือ บริเวณแก่งอาฮงนี้เอง คนเฒ่าคนแก่เคยวัดความลึกโดยใช้เชือกผูกกับก้อนหินหย่อนลงไป วัดได้ 98 วา ในหน้าแล้งคือช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน วัดได้ 40 – 50 วา เนื่องจากแก่งอาฮงเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่และเป็นแก่งหินกว้างจากฝั่งไทยถึงฝั่งลาวประมาณร้อยกว่าเมตร จึงยากที่จะสังเกตให้รู้ได้ ดังนั้นหากท่านใดอยากจะทราบว่าบริเวณใดเป็นจุดที่ลึกที่สุด หรือเรียกกันว่า “สะดือแม่น้ำโขง” นั้นให้สังเกตได้บริเวณหน้าพระอุโบสถ ลักษณะจะเป็นคุ้งน้ำที่มีกระแสไหลวน กินบริเวณกว้าง เห็นได้ชัดในฤดูน้ำหลาก เพราะน้ำจะไหลเชี่ยววนจนเป็นหลุมรูปกรวย และถ้ามีเศษไม้ ต้นไม้ หรือวัตถุใดๆ ลอยมาก็จะไหลวนอยู่บริเวณนี้ประมาณ 20-30 นาที จึงค่อยหลุดไปบางครั้งติดค้างอยู่ริมตลิ่งก็มี กล่าวกันว่าถ้ามีคนตกน้ำตกตายเหนือแก่งอาฮงขึ้นไป ไม่ว่าที่ใด หากหาศพไม่พบ ก็จะหาได้ที่แก่งอาฮง เชื่อกันว่าศพจะไหลไม่พ้นแก่งอาฮง เพราะตกลงไปในจุดที่เป็นคุ้งน้ำไหลวนและเป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขงนั่นเอง ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นั่นก็คือ ปลาบึก ในตอนดึกของฤดูน้ำหลาก จะได้ยินเสียงจากแม่น้ำโขงประหนึ่งว่าคนลงเล่นน้ำ เสียงดังตูมตามประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ก็จะเงียบหายไป ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เสียงนั้นคือ ปลาบึกผสมพันธุ์กัน ด้วยในบริเวณนั้นมีความลึก และปลาบึกกินตระไคร้น้ำเป็นอาหาร ใต้น้ำบริเวณแก่งอาฮงนั้นมีโขดหินมากมายและมีถ้ำใหญ่ ระบบนิเวศวิทยาเรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งที่มีปลาบึกชุกชุมอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย



ปัจจุบันวัดอาฮงศิลาวาส เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดบึงกาฬ ที่มีผู้แวะเวียนเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ภายใต้ร่มบวร นิเวศน์แห่งนี้จึงเป็นที่พักกายพิงใจ และเป็นอุทยานการศึกษา ที่ให้ความรู้ อันจะเป็นมรดกตกทอดไปสู่ชนคนรุ่นหลัง ทว่า สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดนั่นก็คือการได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้รุ่งเรืองวัฒนาตลอดกาลนาน






อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.bungkan.com